วันอาทิตย์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ช่วยเหลือผู้พิการทางเสียงโดยใช้โปรแกรม


" ผลงานดังกล่าวพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้พิการทางเสียงหรือผู้ที่ใช้ภาษามือ ให้สามารถโต้ตอบกับคนทั่วไปได้โดยเป็นการสื่อสารแบบสองทาง

โปรแกรมจะใช้อุปกรณ์ที่ชื่อว่า คีเน็กซ์ (Kinect) หรือกล้องที่สามารถจับอิริยาบถหรือท่าทางแบบ 3 มิติ ได้ มาเป็นตัวจับสัญญาณมือที่ผู้พิการสื่อสารออกไป และระบบจะนำไปแปลงเป็นตัวหนังสือหรือข้อความและเสียง

หากคู่สนทนาจะสื่อสารกลับด้วยเสียง ระบบก็จะแปลงสัญญาณเสียงเหล่านี้กลับไปเป็นตัวหนังสือและแอนิเมชั่นภาษามือได้ "



ปัจจุบันด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ทำให้ผู้คนสามารถรับข่าวสารข้อมูลได้ทุกที่ทุกเวลาจากทั่วทุกมุมโลกเพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัส แต่สำหรับคนอีกกลุ่มหนึ่งกลับไม่มีโอกาสแม้กระทั่งการพูดคุยกับผู้ที่อยู่ตรงหน้า

เพราะว่ายังขาดเทคโนโลยีที่จะทำให้การสื่อสารด้วยภาษามือเป็นที่เข้าใจในวงกว้าง จึงเป็นที่มาของการพัฒนา “โปรแกรมช่วยเหลือการสื่อสารผ่านภาษามือ” (Sign Language Communication Translator: SLCT)

อีก 1 ผลงานจาก 9 โครงการ ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวแทนจากประเทศไทยในการเข้าประกวดการออกแบบสิ่งประดิษฐ์เพื่อคนพิการของนักศึกษาในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในงานประชุมวิชาการนานาชาติ เรื่องวิศวกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการครั้งที่ 5 หรือไอ-ครีเอท 2011 ซึ่งเนคเทคหรือศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ร่วมกับหน่วยงานสตาร์ท เซ็นเตอร์ จากสาธารณรัฐสิงคโปร์ จัดขึ้นที่ประเทศไทยไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาและได้รับรางวัลชมเชยจากการแข่งขันครั้งนี้

โดยเป็นผลงานของน้อง ๆ ทีมโพลาร์ แบร์ (Polar Bear)จากคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี หรือ มจธ. ซึ่งสมาชิกในทีมประกอบด้วยนางสาวจุฑาพิมพ์ พงศ์ฉัตรมณี, นายนันทวัฒน์ สินทะเกิด, นายธัญพรรษ ศิริทรงกล และนายโพธิ์ภัทร์ ยิ่งถาวรสุข

น้องจุฑาพิมพ์ ซึ่งปัจจุบันกำลังศึกษาปริญญาโท ปีที่ 1 บอกว่า ผลงานดังกล่าวเป็นโครงการจบการศึกษาระดับปริญญาตรีที่ผ่านมา โดยพัฒนาต้นแบบมาประมาณครึ่งปี เคยส่งเข้าร่วมประกวดและผ่านการคัดเลือกในรอบแรกในการแข่งขันออกแบบและพัฒนาซอฟต์แวร์ “อิมเมจิ้น คัพ” ระดับประเทศไทยในปีที่ผ่านมา

ผลงานดังกล่าวพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้พิการทางเสียงหรือผู้ที่ใช้ภาษามือ ให้สามารถโต้ตอบกับคนทั่วไปได้โดยเป็นการสื่อสารแบบสองทาง

โปรแกรมจะใช้อุปกรณ์ที่ชื่อว่า คีเน็กซ์ (Kinect) หรือกล้องที่สามารถจับอิริยาบถหรือท่าทางแบบ 3 มิติ ได้ มาเป็นตัวจับสัญญาณมือที่ผู้พิการสื่อสารออกไป และระบบจะนำไปแปลงเป็นตัวหนังสือหรือข้อความและเสียง

หากคู่สนทนาจะสื่อสารกลับด้วยเสียง ระบบก็จะแปลงสัญญาณเสียงเหล่านี้กลับไปเป็นตัวหนังสือและแอนิเมชั่นภาษามือได้

น้องจุฑาพิมพ์ บอกว่า จุดเด่นของโปรแกรมคือสามารถช่วยแปลงภาษามือและเสียงไปกลับได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งปัจจุบันซอฟต์แวร์ที่ใช้กันอยู่ทั่วไปจะสามารถแปลงสัญญาณได้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น และมีราคาสูงทำให้ไม่สามารถนำออกมาใช้ได้อย่างแพร่หลาย

อย่างไรก็ดีต้นแบบนี้ยังมีข้อจำกัดของลักษณะท่าทางภาษามือที่จะต้องไม่คลุมเครือหรือมีความแตกต่างของแต่ละท่าทางอย่างชัดเจน ซึ่งจะต้องพัฒนาเพิ่มเติมต่อไป

สำหรับการนำไปใช้งาน น้อง ๆ บอกว่า สามารถนำไปปรับใช้สำหรับองค์กรที่ต้องการขยายช่องทางการประชาสัมพันธ์หรือคอลเซ็นเตอร์ให้กับผู้บกพร่องทางการได้ยิน

และนี่ก็คืออีกหนึ่งช่องทางในการนำเทคโนโลยีมาสร้างโอกาสให้ผู้พิการ!!!.

นาตยา คชินทร
nattayap@daliynews.co.th

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
วันพุธ ที่ 27 กรกฎาคม 2554

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น