วันจันทร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2554

บัวหลวง บัวสารพัดประโยชน์


" บัวหลวง เป็นบัวชนิดที่มีก้านแข็ง เปราะ มีตุ่มและหนาม ชูก้านพ้นน้ำได้สูง หน้าใบไม่เปียกน้ำ ดอกมีรูปร่างเป็นพุ่มสวย มีทั้งที่มีกลิ่น
หอมอ่อนๆ และกลิ่นหอมจัด บานในเวลากลางวัน เมื่อดอกบานแล้วจะคลี่แบะออก เกสรหอม เมื่อเกสรร่วงมองเห็นฝักใหญ่ มีเมล็ดกลมนูนขึ้นมา บัวหลวงขึ้นอยู่ทั่วไปตามคลองหนองบึง พุทธสานิกชนนิยมนำดอกบัวหลวงมาบูชาพระ และนำมาปักแจกันตกแต่งอาคารบ้านเรือน นอกจากนั้นยังนำส่วนอื่นๆ " 
บัวหลวง เป็นไม้อยู่ในสกุลปทุมชาติ
ปทุมชาติ (Nelumbo)

 ไม้สกุลนี้มีอยู่ 2 ชนิดด้วยกัน คือ
1.Nelumbo lutea Pets มีแหล่งกำเนิดใน
อเมริกเหนือ ลักษณะดอกใบคล้ายกับบัวหลวงของไทย ผิดกันที่สีดอกเป็นสีเหลือง และใบบัวชนิดนี้เล็กกว่าบัวหลวง พระยาวินิจวนันดรกลาวไว้ในหนังสือเรื่องไม้ประดับบางชนิดของไทยว่า เคยมีผู้สั่งเข้ามาปลูกในกรุงเทพฯ แต่ทนอากาศร้อนของกรุงเทพไม่ได้จึงสูญพันธุ์ไป

2. Nelumbo nucifera gaertn ได้แก่ บัวหลวง ซึ่งมีแหล่งกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เท่าที่พบในเมืองไทยก็มี
บัวหลวง ใช้ประโยชน์เกือบทุกส่วน เช่น เหง้าบัวหรือรากบัว นำมาต้มรับประทานแก้ร้อนใน กระหายน้ำ ใช้เชื่อมน้ำตาลรับประทานเป็นของหวาน นำมาชุบแป้งทอดเป็นของว่าง ใบบัวแก่นำมาใช้ห่อของแทนใบตอง ใบอ่อนนำมารับประทานเป็นยา เกสรตัวผู้เส้นสีเหลืองนำมาตากแห้งเป็นสมุนไพร ใช้ปรุงยาไทย เช่น ยาบำรุงหัวใจ
บำรุงประสาท และเป็นยาชูกำลัง เมล็ดบัวใช้รับประทานทั้งดิบและนำมาผสมอาหารคาว ตลอดจนนำมาต้มน้ำต่างเป็นของหวาน และเคลือบน้ำตาลแห้ง มีสรรพคุณบำรุงครรภ์ และบำรุงกำลัง ดีบัวมีสารอัลคาลอยด์ซึ่งมีสรรพคุณช่วยขยายหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ดอกบัวหลวงซึ่งมีเพียงสองสี คือสีขาว และ สีชมพู มีก้านดอกแข็งแรงมีตุ่มหนามเช่นกัน ดอกตูมมีลักษณะคล้ายมือประณมไหว้ คนโบราณไม่นิยมใช้ดอกบัวหลวงบานไหว้พระ อาจเป็นเพราะดอกบัวบานกลิ่นหอมแรง และมักมีหมู่แมลงมาบินตอมดอมดมอยู่เสมอก็เป็นได้ บัวหลวงมีหลายพันธุ์ มีที่สำคัญดังนี้
บัวหลวงสีชมพูอ่อนดอกลา หรือเรียกว่า " ปทุม " มีชื่อละตินว่า Nulumbo nucifera
ชื่อสามัญเรียกว่า Sacred Lotus
" ปทุม " เป็นบัวหลวงสีชมพู บางทีก็เรียก บัวแหลมแดง หรือแดงดอกลา กลีบดอกไม่ซ้อนดอกมีขนาดใหญ่ สีชมพูจนถึงแดง เป็นพันธุ์ที่ขึ้นแพร่หลายทั่วไป คนไทยจะคุ้นเคยกับบัวหลวงพันธุ์นี้มากที่สุด เพราะขึ้นในธรรมชาติทั่วไป ในภาษากวีมีชื่อเรียกหลายชื่อเช่น ปทุม ปทุมมาลย์ ปัทมา โกกนุต มีทรงดอกตูมทรงสามเหลี่ยมปลายแหลมคล้ายรูปหัวใจหงายขึ้น เมื่อโตเต็มที่ขนาดดอกจะกว้างประมาณ 5 - 8 เซ็นติเมตร ยาวประมาณ 10 - 15 เซ็นติเมตร กลีบเลี้ยงมีสีเขียว ขอบกลีบมีสีชมพู มีเส้นกลีบดอกตามแนวยาวชัดเจน มีกลีบเลี้ยง จำนวน 3 กลีบอยู่โคนดอกติดกับก้านดอก กลีบดอกมีขนาดใหญ่อย่างเห็นได้ชัด มีลักษณะยืดหยุ่นสีชมพู โคนกลีบมีสีเหลืองขอบกลีบเป็นสีชมพูเข้มกว่าตัวกลีบดอก และเห็นเส้นกลีบดอกเรียงตามยาวชัดเจน กลีบดอกเรียงซ้อนกันประมาณ 4 - 5 ชั้น ชั้นในสุดติดกับเกสรตัวผู้ จำนวน 500 - 600 อัน เกสรตัวเมียถูกห่อหุ้มเป็นฝักขนาดเล็ก ภายในมีเมล็ดเล็ก ๆ ประมาณ 25 - 30 เมล็ด อาจจะเป็นเพราะมีเกสรตัวผู้ค่อนข้างมาก ทำให้มีการผสมเกสรทำได้ง่าย จึงทำให้มีการแพร่พันธุ์ของบัวชนิดนี้มากกว่าพันธุ์อื่น เวลาดอกบานจะมีกลิ่นหอมเย็น และกลิ่นค่อนข้างแรง สำหรับบัวหลวงสีชมพูพันธุ์ดอกเล็ก จะสังเกตจากดอกมีขนาดเล็กกว่าปกติ แต่มีลักษณะดอกและสีคล้ายกัน กล่าวกันว่าได้พันธุ์มาจากประเทศจีน บางคนจึงเรียกกันว่า บัวหลวงจีน บัวเข็มบัวปักกิ่ง บัวไต้หวัน
บัวหลวงสีชมพุแก่ดอกลา ไทยเรียกว่า " ปัทมา " มีชื่อละตินว่า Nelumbo nucifera
มีชื่อสามัญว่า East Indian Lotus
บัวเข็ม บัวปักกิ่ง บัวหลวงจีน มีชื่อละตินว่า Nulambo nucifera var pekinese
บัวหลวงสีชมพูดอกซ้อนทรงป้อม หรือเรียกว่า "สัตตบงกช" ,บัวฉัตรแดง,บัวป้อมแดง
มีชื่อละตินว่า Nelumbo nucifera ชื่อสามัญเรียกว่า Roseum Plenum ดอกทรงป้อมสีชมพูถึงแดง กลีบดอกซ้อนมากกว่าบัวปทุม ใกล้ฝักจะมีกลีบสีขาวปนชมพูอยู่หลายชั้น เวลาดอกบานแล้วจะเห็นกลีบเล็ก ๆ สีขาวปนชมพูซ้อนอยู่ข้างใน ส่วนกลีบนอก ๆ ก็มีลักษณะเหมือนบัวหลวงทั่วไป บัวหลวงพันธุ์นี้ไม่ค่อยมีเมล็ด
"บุณฑริก หรือ ปุณฑริก"  บัวหลวงสีขาวดอกลา มีชื่อละติน Nulumbo nucifera alba มีชื่อสามัญเรียก Hindu lotus  บัวแหลมขาว ทรงดอกแหลมสีขาวถึงขาวอมเขียว กลีบดอกไม่ซ้อน บัวชนิดนี้มีน้อยกว่าชนิดแรก ลักษณะดอกตูมรูปสามเหลี่ยมปลายแหลมคล้ายพันธุ์ดอกสีชมพู ความกว้างของดอกจะน้อยกว่าความยาว ดอกที่สมบูรณ์จะมีขนาดกว้างประมาณ 5 - 8 เซ็นติเมตร  ยาวประมาณ 10 - 15 เซ็นติเมตร สีเขียวอ่อน เมื่อดอกบานกลีบดอกจะเปลี่ยนเป็นสีขาว มีเส้นที่กลีบดอกตามแนวยาวชัดเจน โคนของกลีบดอกมีสีเหลืองอ่อน กลีบดอกมีความยืดหยุ่นพอ สมควร มีกลีบดอก 4 - 5 ชั้น จำนวน 14 - 16 กลีบ ดอกมีกลิ่นหอมเย็น โคนกลีบดอกเป็นที่อยู่ของเกสรตัวผู้ก้านเกสรตัวผู้ยาวประมาณ 3 - 3.5 เซ็นติเมตร เกสรตัวเมียรวมกันเป็นฝักขนาดเล็ก ภายในมีเมล็ดบัว จำนวน 15 - 20 เมล็ด เมล็ดอ่อนจะมีลักษณะกลมยาว เมื่อเมล็ดแก่จะกลมมนขึ้น และผิวเมล็ดจะกลายเป็น สีดำหรือเกือบดำ เป็นที่น่าสังเกตว่าบัวชนิดนี้จะพบน้อย อาจเป็นเพราะมีเกสรตัวผู้น้อยและเกสร ตัวเมียน้อยกว่าบัวชนิดแรก ขึ้นได้ดีในระดับความลึกของน้ำประมาณ 15 - 60 เซ็นติเมตร
" สัตตบุษย์ " ชื่อสามัญเรียก บัวฉัตรขาว หรือ บัวป้อมขาว ดอกป้อมสีขาว กลีบดอกซ้อนมาก ดอกตูมมีรูปร่างป้อมกว่าปุณฑริก มีสีขาว กลิ่นหอมจัด
          บัวหลวงเป็นไม้ที่รู้จักกันดี เพราะดอกสวย กลิ่นหอม นิยมใช้ในพิธีทางศาสนา แทบทุกส่วนของบัวหลวงใช้ประโยชน์ได้ทั้งสิ้น เหง้า หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า รากบัว ใช้รับประทาน ใบใช้ห่อแทนใบตอง ใบอ่อนใช้เป็นผัก กลีบดอกใช้ม้วนบุหรี่ เกสรใช้เป็นสมุนไพร เช่น ยาหอมมักเข้าเกสรบัวหลวง เมล็ดบัวใช้เป็นอาหาร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น