วันอังคารที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2554

ไม้ดอกหอม ไม้มงคล และเป็นสมุนไพรด้วย ต้องต้นกรรณิการ์


กรรณิการ์, กรณิการ์
กรรณิการ์ กรรณิการ์มีช่อดอกขาว ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบ เป็นไม้หอมที่เหมาะกับการปลูกไว้เป็นไม้ดอกไม้ประดับในบริเวณบ้าน ที่จะส่งกลิ่นในยามค่ำคืน และยังเป็นพืชสมุนไพรอีกด้วย กรรณิการ์ ถือได้ว่าเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่ง เหมาะที่จะปลูกไว้ทางทิศตะวันออกของบริเวณบ้าน ในขณะเดียวกันสามารถปลูกทางทิศใต้ก็ได้

 ชื่อวิทยาศาสตร์ :   Nyctanthes arbor-tristis  L.

 ชื่อสามัญ :   Night blooming jasmine
 วงศ์ :   OLEACEAE
 ชื่ออื่น :  กณิการ์ , กรณิการ์
กรรณิการ์เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง เมื่อโตเต็มที่มีความสูงประมาณ 3-4 เมตร แต่ถ้าปล่อยให้สูงไปเรื่อยๆ โดยไม่ตัดกิ่งออกบ้าง ตันไม้จะขึ้นโอนเอนไปมาไม่เป็นระเบียบ แถมจะเก็บดอกไม่ถึง อยู่สูงเกินไป เป็นใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม รูปไข่ เมื่อใบยังเล็กอยู่ ลักษณะขอบใบจะอ้วนเรียว และเรียบ ปลายใบแหลม แต่พอใบโตขึ้น ขอบใบจะออกเป็นจักๆ มีทั้งขอบเรียบและขอบจักแหลมอยู่ในต้นเดียวกัน ใบสากไม่เรียบ มีขนอ่อนๆ บนใบ ลำต้นดูแปลกดี เป็นสี่เหลี่ยมมีปุ่มกลมๆ เป็นจุดๆ เรียงลงมาตลอดแนวของลำต้น ถ้าลองหักกิ่งดู หักออกง่าย เป็นไม้ไม่มีแกน ข้างในกลวง
กรรณิการ์, กรณิการ์
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :  ดอกกรรณิการ์จะออกดอกเป็นช่อๆ ที่ปลายกิ่ง และตามง่ามใบใกล้ส่วนปลายกิ่ง ในช่อหนึ่งๆ จะมีพุ่มเล็กๆ ติดกันเป็นหลอดรูปกรวย แยกเป็นหลายพุ่ม โดยปกติจะมีพุ่มละ 5 ดอกในหนึ่งกรวย แต่บางทีก็มีแค่ 3 - 4 ดอก อาจจะมีถึง 7 ดอกในหนึ่งกรวย แต่จะพบน้อยมาก ซึ่งมีโคนกลีบติดกัน ในเวลากลางวันดอกจะตูมๆ เหมือนกับดอกพุด มีสีขาว ก้านเป็นหลอดสีส้ม พอตกกลางคืนจะบานเต็มที่ ปกติมี 6 กลีบ กลีบดอกไม่ตรงจะบิดเล็กน้อย แต่ส่วนที่ถูกแสงแดดส่องถึงมากๆ จะมี 7-9 กลีบแน่นเต็มดอก ถ้าสังเกตมีเกสรสีขาวเป็นจุดกลมอยู่ตรงกลางดอก 2-3 จุด กลิ่นหอมแรงตอนกลางคืน พอรุ่งเช้าก็โรยรา ร่วงหล่นหมด และก็ตูมขึ้นมาใหม่อีกจนกว่าดอกจะหมดในทุกๆ กรวย ดอกจะออกมาก ในช่วงย่างเข้าหน้าหนาว ประมาณเดือนพฤศจิกายน-ต้นมกราคม หลังจากดอกออกหมดแล้ว ในพุ่มหนึ่ง 5 ดอกคือ 1 กรวย จะมีผลเพียง 1 ผลเท่านั้น (แต่ไม่ได้ออกทุกกรวย) เป็นผลแบนๆ สีเขียว รูปไข่หรือกลม ตรงปลายดอกที่ร่วงไปแล้ว ภายในผล ถ้าลองแกะออกดู จะมีเมล็ด 2 เมล็ด อยู่ข้างละ 1 ซีกของผล เมล็ดอ่อนมีสีเขียว ถ้าแกะเมล็ดอ่อนสีเขียวออกอีกชั้นหนึ่งจะเป็นสีขาว ลักษณะแบนๆ ตามรูปร่างของเมล็ด ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง หรือปักชำ 
ผล รูปไข่หรือกลม ค่อนข้างแบน ปลายผลมีติ่งแข็งสั้นๆ ภายในมีเมล็ด 2 เมล็ด อยู่ซีกละเมล็ดผลอ่อนมีสีเขียว เมื่อแก่เป็นสีดำ
การขยายพันธุ์ : กรรณิการ์ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด การตอน หรือปักชำกิ่ง การปลูกด้วยกิ่งตอนลงในกระถาง พบว่าออกดอกได้ดี ปัจจุบันนิยมปลูกเป็นไม้ประดับในประเทศไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย โดยปลูกเป็นฉากหลัง บังสายตาหรือปลูกเป็นกลุ่ม ห่างจากลานนั่งเล่น พอสมควรเพราะดอกมีกลิ่นหอมแรงช่วงเย็น
ส่วนที่ใช้ : ใบ เปลือก ดอก ราก ต้น
ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา: จากการศึกษาพบว่าสารสกัดจากกรรณิการ์มีฤทธิ์ต้านมาเลเรีย ขับพยาธิ ต้านเชื้อบิดมีตัว ต้านเชื้อรา ต้านการอักเสบ แก้ปวด ต้านเชื้อไวรัส ฆ่าแมลง นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์เป็นสารต้านอ๊อกซิแดนท์
สรรพคุณของสมุนไพร :
เปลือก มีสารฝาดสมาน ใช้เปลือกชั้นในต้มน้ำดื่มเป็นยาแก้ปวดศีรษะ หรือนำไปผสมกับปูนขาวก็จะให้ปูนสีแดง
ต้น แก้ปวดศีรษะ แก้ไข้ แก้ไอสำหรับสตรีคลอดบุตรใหม่ๆ
ใบ ใช้เป็นยาแก้ไข้ บำรุงน้ำดี ใช้เป็นยาขมเจริญอาหาร ถ้ากินมากทำให้ระบาย โรคปวดตามข้อ ยาขับน้ำดี ยาขมเจริญอาหาร แก้ตานขโมย แก้ปวดท้อง แก้ไข้จับสั่นชนิดจับวันเว้นวัน โดยนำใบสดตำแล้วคั้นเอาแต่น้ำหรือผสมกับน้ำตาลดื่ม 
 กรรณิการ์ สมุนไพร สรรพคุณสมุนไพรกรรณิการ์ ต้นแก้ปวดศีรษะ แก้ไข้ แก้ไอสำหรับสตรีคลอดบุตรใหม่ๆ ใบใช้เป็นยาแก้ไข้ บำรุงน้ำดี ใช้เป็นยาขมเจริญอาหาร
ดอก แก้ไข้ ลมวิงเวียน บำรุงหัวใจ แก้พิษทั้งปวง แก้โลหิตตีขึ้น เป็นไข้บาดทะจิต แก้ไข้มีรู้สติสมปฤดี แก้ไข้ผอมเหลือง แก้ตาแดง นอกจากนี้สามารถนำดอกไปสกัดน้ำมันหอมระเหยโดยการกลั่นด้วยไอน้ำไปใช้ทำน้ำหอม น้ำมันหอมระเหยที่กลั่นได้นี้สามารถใช้แทนน้ำมันดอกมะลิได้ ดังนั้นจึงมีชื่อเรียกสามัญของกรรณิการ์เป็นภาษาอังกฤษว่า ‘Night jasmine” 
ส่วนโคนก้านดอกกรรณิการ์มีสีแสดแดงนั้นนำไปคั้นน้ำให้สารสีเหลืองชื่อ nyctanthin ใช้เป็นสีทำขนมและสีย้อมผ้าของคนโบราณได้ โดยนำโคนกลีบดอกส่วนหลอดสีแสดแดงโขลกหยาบๆ เติมน้ำ คั้นส่วนน้ำกรองจะได้น้ำสีเหลืองใส ใช้เป็นสีย้อม เติมน้ำมะนาวหรือสารส้มลงไปเล็กน้อยขณะย้อม จะทำให้สีคงทน บางครั้งอาจผสมขมิ้นชันหรือครามลงไปในการย้อมด้วยก็ได้ การย้อมควรนำผ้าแช่ทิ้งไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วนำผ้าออกผี่งลมให้แห้ง
ราก เป็นยาบำรุงกำลัง แก้อุจจาระเป็นพรรดึก บำรุงธาตุ บำรุงกำลัง แก้ผมหงอก บำรุงผิวหนังให้สดชื่น ใช้แก้ไอสำหรับสตรีคลอดบุตรใหม่ๆ และแก้อ่อนเพลีย
ต้นและราก นำมาต้มหรือนำมาฝนกับฝาละมีรับประทานแก้ไอ
ต้น ราก ใบและดอก ต้มรับประทานแก้ปวดศีรษะ
อินโดนีเซีย มาเลเซีย และอินเดียใช้ดอกเป็นยาขับประจำเดือน ในอินเดียใช้ใบซึ่งมีรสขมเป็นยาแก้ไข้ และใช้ขับพยาธิ
วิธีและปริมาณที่ใช้ - ใช้ใบสด 1 กำมือ ตำ เติมน้ำคั้นเองาแต่น้ำ 1 ถ้วยแก้ว แบ่งรับประทาน 4 ครั้ง เป็นยาขม เจริญอาหาร
สารเคมี - กลุ่ม Carotenoid
ต้นกรรณิการ์เป็นไม้ชอบแดด ออกดอกไม่หวาดไม่ไหว ดอกร่วงเร็วมาก แต่ถ้าอยากจะเก็บดอกให้ทัน ให้เก็บในตอนกลางคืน หรือก่อนเวลา 6 โมงเช้า กรณีต้องการดอกที่ไม่ช้ำ เวลาเก็บต้องใช้ปลายนิ้วค่อยๆ จับตรงก้านสีส้มแล้วค่อยๆ ดึงออกมา อย่าถูกกลีบใบ เพราะกลีบใบอ่อนนุ่มมากแถมช้ำเร็ว ถ้าเก็บหลังเวลา 6 โมงเช้า ดอกเริ่มร่วงแล้ว แต่ถ้าต้องการเก็บดอกแบบเร็ว ไม่สนใจความช้ำ เพราะอาจจะต้องการใช้แต่ก้านเพียงอย่างเดียว ให้ใช้มือเขย่าที่กิ่ง ดอกจะร่วงหล่นลงมา ถ้าปลูกที่แสงแดดรำไร จะไม่ออกดอกและไม่ค่อยโต ไม่เหมาะปลูกในกระถางเพราะเป็นไม้ต้นขนาดกลาง อย่าปลูกตรงบริเวณสนามหญ้า เพราะเวลาดอกร่วงหล่นลงพื้นสนามหญ้า ดอกเหี่ยวเฉาเร็ว จะเก็บดอกที่ร่วงออกจากสนามหญ้าลำบากมาก เวลารดน้ำให้รดที่โคนต้นก็เพียงพอแล้ว ถ้ารดทั้งต้น ดอกกรรณิการ์จะช้ำและร่วง เน่าเร็วกว่าเดิมอีก






เอกสารอ้างอิง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น