วันเสาร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2554

สมุนไพรทรงคุณค่าควรคู่ธรรมชาติ

เมื่อพูดถึงสมุนไพรหลายคนคงรู้จัก แต่ก็คงมีน้อยคนที่จะเข้าใจถึงสรรพคุณ วิธีการใช้ ประเภทและที่มาของสมุนไพร ข้อดีข้อเสียและข้อจำกัดของสมุนไพร ข้อควรทำความเข้าใจ และข้อควรระวังเกี่ยวกับสมุนไพร อาการแพ้จากสมุนไพร ตลอดจนคุณภาพและมาตราฐานของสมุนไพรของเรา วันนี้เราลองศึกษาเรื่องสมุนไพรกันดูนะค่ะ
 สมุนไพร ตามความหมายของพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน  หมายถึงผลิตผลธรรมชาติ ได้จาก พืช สัตว์ และแร่ธาตุ ที่ใช้เป็นยา หรือผสมกับสารอื่นตามตำรับยา เพื่อบำบัดโรค บำรุงร่างกาย หรือใช้เป็นยาพิษ เช่น กระเทียม น้ำผึ้ง รากดิน (ไส้เดือน) เขากวางอ่อน กำมะถัน ยางน่อง โล่ดิ๊น

 เมื่ออ่านศึกษาจากตำราแพทย์แผนไทยเช่น ตำราประมวลหลักเภสัชของ ร.ร. แพทย์แผนโบราณ วัดพระเชตุพน วิมลมัลคลาราม ราชวรวิหาร สมุนไพรไทยที่นำมาบำบัดรักษาโรคเรียกว่าเภสัชวัตถุ แบ่งเป็น ๓ ประเภทคือ พืช สัตว์ และแร่ธาตุ
 ประเภทพืช ยังแบ่งเป็น ๕ จำพวก ดังต่อไปนี้คือ 

(๑) จำพวกต้น ได้แก่พืชที่เป็นต้นโตและต้นเล็กบ้าง สูงและต่ำบ้าง ไม่มีแก่นและมีแก่นบ้าง ซึ่งนิยมเรียกว่าต้น เช่น เนื้อไม้และใบกระดังงาไทย ขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ ดอกกระดังงาไทย แก้ลมวิงเวียน ชูกำลัง ทำให้ชุ่มชื่น ใบกระดูกขาว แก้งูพิษ
 (๒) จำพวกเถา ได้แก่พืชที่เป็นเถาเลื้อยพันขึ้นไปตามต้นไม้บ้าง เลื้อยไปตามพื้นดินบ้าง สั้นบ้าง ยาวบ้าง ซึ่งนิยมเรียกกันว่า เถา หรือเครือ เช่น รากกะทงลาย แก้ไข้จับสั่น ใบกะทกรก แก้หวัดคัดจมูก 
แก้ปวดศีรษะ เถาโคกกระออม แก้ไข้
 (๓) จำพวกหัว ได้แก่พืชที่เป็นพันธุ์ใช้หัวหรือเง่าเป็นพื้น ซึ่งนิยมเรียกกันว่าหัวหรือเง่า เช่น
ต้นกะทือ แก้เบื่ออาหาร ใบกระแตไต่ไม้ แก้แผลร้ายพุพอง หัวกลอย แก้เถาดานในท้อง
 (๔) จำพวกผัก คือพืชที่เป็นต้นเล็กๆ ต่ำๆ หรือเป็นพันธุ์เลื้อยทอดยอดไปตามพื้นดิน หรือตามผิวน้ำ ซึ่งนิยมเรียกว่าผัก เช่น
ผักตับเต่าน้ำ แก้ลม แก้เสมหะ แก้ดีเดือดขับน้ำย่อยอาหารให้บริบูรณ์
ผักกาดนาทั้งต้น กระทุ้งพิษ แก้พิษร้อน ขับพิษไข้หัว ให้ซ่านออกมา ขับเหงื่อ
ผักกาดน้ำ ขับปัสสาวะ แก้นิ่ว แก้ช้ำรั่ว แก้หนองใน ระงับความร้อน
 (๕) จำพวกหญ้า ได้แก้พืชที่เป็นต้นเป็นกอเล็กๆ บ้าง ต่ำๆ บ้าง สูงบ้าง โดยมากนิยมเรียกกันว่าหญ้าเป็นคำนำหน้าเสมอ เช่น
หญ้าเอ็นยืด ขับปัสสาวะ บำรุงความกำหนัด แก้เส้นเอ็นพิการ
หญ้ากระต่ายจาม แก้ช้ำใน แก้โลหิตคั่งค้าง กระจายโลหิตให้ตกทวารหนัก แก้อาเจียนเป็นโลหิต
รากกระทืบยอด แก้นิ่ว แก้หนองใน
 ประเภทสัตว์วัตถุ ได้แก่ร่างกายและอวัยวะของสัตว์ ต้องรู้จักส่วนที่ใช้ เช่น เขา ขน หนัง เล็บ เขี้ยว ฟัน กราม กรวด หัว ดี กีบ กระดูก ว่าเป็นส่วนและอวัยวะของสัตว์อะไร มีลักษณะสี กลิ่น รส เป็นอย่างไร แบ่งเป็น ๓ จำพวกคือ
(๑) จำพวกสัตว์บก คือสัตว์ต่างๆ ที่อยู่บนบก ตัวอย่างเช่น 
ขี้วัวดำรสขมเย็น ดับพิษร้อน พิษไข้ทั้งปวง แก้เริม แก้ไฟลามทุ่ง แก้งูสวัด แก้ลมพิษ แก้พุพอง แก้ฟกบวม ถอนพิษทั้งปวง 
ขี้แมลงสาบ แก้ลิ้นขาวเป็นฝ้าละออง แก้เม็ดยอดในปากคอ แก้ฟกบวมที่มีพิษร้อน แก้ไข้กาฬโรค
เขาวัว เขาควายเผือก เขาแพะ เขาแกะ เขากวาง เขากุย เขาอีเก้ง เขาเลียงผา เขากะทิง เขาวัวป่า เขาวัวบ้าน นอแรด ตามสรรพคุณรวมท่านกล่าวว่า รสเย็น คาวเล็กน้อย ดับพิษทุกอย่าง แก้ร้อนใน ถอนพิษผิดสำแดง แก้ไข้ แก้พิษกาฬและพิษฝีทุกชนิด แก้พิษฝีในลำคอ แก้พิษงู แก้พิษตานทรางทั้งปวง
 (๒) จำพวกสัตว์น้ำ คือสัตว์ที่อาศัยอยู่ในน้ำ ตัวอย่างเช่น
ดีตะพาบน้ำรสขม ขับลมและเลือด แก้ลมกองละเอียด คือลมวิงเวียน หน้ามืดตาลาย
ลิ้นทะเล ฆ่าเชื้อโรค แก้มูกเลือด กัดสิวฝ้า แก้เม็ดยอดในปากในคอ
หางปลาช่อนแห้งรสเย็นคาว แก้เม็ดยอด แก้ตานทราง แก้พิษทั้งปวง แก้ลิ้นเป็นฝ้าเป็นละออง แก้ตัวร้อนนอนสะดุ้งมือเท้าเย็น หลังร้อน แก้หอบ แก้ทรางทับ สำรอก แก้ตาเหลือกดูบนและช้อนตาแลหลังคา
 (๓) จำพวกสัตว์อากาศ คือสัตว์ที่บินไปได้ในอากาศ เช่น
ตีนนกกาน้ำรสขม บำรุงเส้นผมและทำให้เส้นผมดกดำ
น้ำผึ้งใหม่รสหวาน ร้อนฝาดยิง กระทำให้อกใจแห้ง แก้สะอึก แก้ไข้ตรีโทษ
รังนกนางแอ่นทะเล บำรุงกำลัง บำรุงความกำหนัด แต่ให้เกิดเสมหะ
 ประเภทธาตุวัตถุ ได้แก่แร่ธาตุต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นเอง หรือสิ่งประกอบขึ้นจากแร่ธาตุต้องรู้จักชื่อธาตุวัตถุนั้นๆ ว่ามีรูปลักษณะ สีกลิ่นรสเป็นอย่างไร แบ่งออกเป็น ๒ จำพวก คือ
(๑) จำพวกสลายตัวได้ยาก ตัวอย่างเช่น
สนิมเหล็กรสฝาดหวาน บำรุงโลหิต แก้ตับโต ตับทรุด ม้ามโต ม้ามแลบตามชายโครง แก้คุดทะราด
นมผารสเย็น แก้โรคตา แก้โรคตาขุ่นมัวฝ้าฟาง แก้แสบร้อนตามผิวหนังเนื่องจากไข้ ประดง
ศิลายอนตัวผู้ แก้ไข้ท้องเสีย แก้พรรดึก แก้เสมหะและลมอันเกิดเพื่อดี

(๒) จำพวกสลายตัวง่ายหรือสลายตัวอยู่แล้ว ตัวอย่างเช่น
กำมะถันแดงรสปร่า แก้ลมป่วง ล้างหัวฝี รักษาท้อง แก้ประดง แก้แผลเรื้อรัง เปื่อยลาม
เกลือสินเธาว์รสเค็ม แก้พรรดึก แก้ระส่ำระสาย ขับพยาธิ์ภายในท้อง ล้างเมือกมันภายใน แก้ไข้
ตรีโทษ ละลายนิ่ว
น้ำซาวข้าวรสเย็น ถอนพิษผิดสำแดง แก้ร้อนในกระหายน้ำ



 วิธีการนำสมุนไพรมาใช้ อาจดัดแปลงรูปลักษณะของสมุนไพรให้ใช้ได้สะดวกขึ้น เช่น นำมาหั่นให้มีขนาดเล็กลง หรือนำมาบดเป็นผง เป็นต้น สมุนไพรนอกจากจะนำมาใช้ประโยชน์เป็นยารักษาโรคแล้ว ยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางด้านอื่นๆ อีก เช่น
นำมาบริโภคเป็นอาหาร อาหารเสริมสุขภาพ เครื่องดื่ม สีผสมอาหาร และสีย้อม ตลอดจนใช้ทำเครื่องสำอางอีกด้วย

ด้านกฎหมายสมุนไพรยังจัดเป็นกลุ่มพิเศษ  คือ กลุ่มอาหาร และกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  หากสมุนไพรใช้เพื่อการรักษาหรือบรรเทาอาการโรค  หรือใช้เสริมสุขภาพ (เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยหรือป้องกันโรค)  จะจัดเป็นยา  อย่างไรก็ดีมีผลิตภัณฑ์สมุนไพรจำนวนหนึ่งที่เป็นยาหรืออาหารหรือเป็นทั้งยาและอาหาร  ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของผู้ใช้  ตัวอย่างเช่น  กระเทียม  หากใช้เพื่อแต่งกลิ่นและรสอาหาร  กรณีนี้ชัดเจนว่า  กระเทียมเป็นอาหาร  เมื่อใช้ผลิตภัณฑ์กระเทียมควบคุมความดันโลหิตหรือระดับคลอเลสเตอรอลที่สูง  กรณีนี้กระเทียมจัดเป็นยา (ในประเทศเยอรมนี)  และจัดเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (ในสหรัฐอเมริกา) จึงเป็นไปได้ที่ผู้บริโภคบางรายใช้กระเทียมเป็นทั้งอาหารและยาในเวลาเดียวกัน ชาวอเมริกันดื่มน้ำพรุนเป็นเครื่องดื่มยามเช้า และเป็นยาระบาย
   ทำไมยาสมุนไพรมักมีรสขม
พืชบางชนิดมีรสขม สารขมส่วนใหญ่เป็นสารในกลุ่มแอลคาลอยด์ มีบ้างที่เป็นสารจำพวกเทอร์ปีนส์ แอลคาลอยด์พบได้ในส่วนต่าง ๆ ของพืชชั้นสูง พบน้อยในพืชชั้นต่ำ ในสัตว์ และจุลินทรีย์ แอลคาลอยด์เป็นสารที่มีฤทธิ์ทาง เภสัชวิทยาที่เด่นชัด มีแอลคาลอยด์จำนวนมากที่ใช้เป็นยารักษาโรคและเป็นยาพิษ ตัวอย่างของสารขมได้แก่ ควินีนซึ่งเป็นสารที่มีรสขมมากที่สุดชนิดหนึ่งที่พบในธรรมชาติ พบได้ใน เปลือกต้นซิงโคนาใช้เป็นยารักษาไข้มาเลเรีย มอร์ฟีนเป็นแอลคาลอยด์จากฝิ่นใช้เป็นยาแก้ปวดที่ดีมาก แต่ทำให้เสพติด เรเซอปีนจากรากระย่อมน้อย ใช้เป็นยาลด ความดันในขณะที่สติ๊กนีน ซึ่งเป็นแอลคาลอยด์ที่ได้จากเมล็ดแสลงใจใช้เบื่อหนูทำให้ เกิดอาการชักได้ ส่วนวินบลาสทีนและวินครีสทีนจากแพงพวยฝรั่งเป็นยารักษา มะเร็งที่ได้ผลดี เป็นต้น ดังนั้นการที่ยาสมุนไพรมีรสขม เนื่องมาจากรสขมของสารสำคัญซึ่งส่วน มากจะเป็นสารในกลุ่มแอลคาลอยด์ที่มีอยู่ในสมุนไพรนั่นเอง
    ข้อดีของสมุนไพรมีหลายประการ เช่น
- มีพิษและผลข้างเคียงน้อยกว่ายาแผนปัจจุบัน
- พืชสมุนไพรบางชนิดเป็นทั้งอาหารและยา
- เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่หาง่าย และมีอยู่แล้ว
- มีวิธีปรุงไม่ซับซ้อนมาก เมื่อรู้วิธีปรุงยาก็สามารถนำมา ปรุงใช้เองได้
- ประหยัด และราคาถูก สามารถปลูกพืชสมุนไพรได้เอง
    สมุนไพรมีข้อจำกัดหลายประการ เช่น
- ยาบางขนาดใช้เครื่องปรุงยาหลายชนิด ทำให้การเตรียมเครื่องปรุงยาค่อนข้างยุ่งยาก
- เห็นผลในการรักษาช้า ไม่ทันใจผู้มีอาการป่วย
- ค่อนข้างยากที่จะเลือกใช้สมุนไพรให้ถูกขนาด ถูกสัดส่วน
- พืชสมุนไพรมีมากหลายชนิด และบางชนิดมีลักษณะคล้ายกัน จึงยากในการเลือกใช้ให้ถูกชนิด
   ข้อควรเข้าใจโดยทั่วไปในการปรุงและใช้ยาสมุนไพร
- หากไม่ระบุว่าให้ใช้แห้งหรือสด ให้ถือว่าใช้สด
- ยาใช้ภายนอก หากไม่ระบุวิธีใช้ให้เข้าใจว่าใช้วิธีตำแล้ว พอก
- ยาใช้ภายใน หากไม่ระบุวิธีใช้ให้เข้าใจว่าใช้วิธีต้มแล้วดื่ม
- ยากิน ให้กินวันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร
- ปริมาณการดื่ม ยาต้ม ควรดื่มครั้งละ 1 / 2-1 แก้ว ยาดองยาคั้น กินครั้งละ 1 / 2-1 ช้อนโต๊ะ ยาผงกินครั้งละ1-2 ช้อนชา ยาลูกกลอน กินครั้งละ1-2 เม็ด ยาชง ให้กินครั้งละ 1 แก้ว
    อาการแพ้ที่เกิดจากการใช้ยาสมุนไพร
- มีผื่นขึ้นตามผิวหนัง อาจเป็นตุ่มเล็กๆ ตุ่มโต ๆ เป็นปื้นหรือเม็ดคล้ายลมพิษ อาจปวมที่ตาจนตาปิด ริมฝีปากบวมเจ่อ หรือมีเพียงดวงสีแดง ๆที่ผิวหนัง
- มีความรู้สึกเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง แต่หากมีอาการเช่นนี้ก่อนกินยาอาจเป็นเพราะโรค
- หูอื้อ ตามัว ชาที่ลิ้น ชาที่ผิวหนัง
- ใจสั่น ใจเต้นหรือรู้สึกวูบวาบคล้ายหัวใจจะหยุดเต้น และเป็นบ่อยครั้ง
- ประสาทความรู้สึกไวกว่าปกติ เพียงแตะที่ผิวหนังก็รูสึกเจ็บหรือ เพียง ลูบเส้นผมเพียงเบาๆ ก็รู้สึกแสบที่หนังศีรษะ
- ตามัว ตัวเหลือง ปัสสาวะมีสีเหลืองเข้ม หรือปัสสาวะมีฟองสีเหลือง
 "พืชสมุนไพร" นั้นตั้งแต่โบราณก็ทราบกันดีว่ามีคุณค่าทางยามากมายซึ่ง เชื่อกันอีกด้วยว่า ต้นพืชต่างๆ ก็เป็นพืชที่มีสารที่เป็นตัวยาด้วยกันทั้งสิ้นเพียงแต่ว่าพืชชนิดไหนจะมีคุณค่าทางยามากน้อยกว่ากันเท่านั้น
"พืชสมุนไพร" หรือวัตถุธาตุนี้ หรือตัวยาสมุนไพรนี้ แบ่งออกเป็น 5 ประการ
1. รูป ได้แก่ ใบไม้ ดอกไม้ เปลือกไม้ แก่นไม้ กระพี้ไม้ รากไม้ เมล็ด
2. สี มองแล้วเห็นว่าเป็นสีเขียวใบไม้ สีเหลือง สีแดง สีส้ม สีม่วง สีน้ำตาล สีดำ
3. กลิ่น ให้รู้ว่ามรกลิ่น หอม เหม็น หรือกลิ่นอย่างไร
4. รส ให้รู้ว่ามีรสอย่างไร รสจืด รสฝาด รสขม รสเค็ม รสหวาน รสเปรี้ยว รสเย็น
5. ชื่อ ต้องรู้ว่ามีชื่ออะไรในพืชสมุนไพรนั้นๆ ให้รู้ว่า ขิงเป็นอย่างไร ข่า เป็นอย่างไร ใบขี้เหล็กเป็นอย่างไร
 ดอกมะขามเป็นอย่างไร ผลมะเกลือเป็นอย่างไร
สมุนไพรนอกจากจะนำมาใช้ประโยชน์เป็นยารักษาโรคแล้ว ยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางด้านอื่นๆอีก เช่นนำมาบริโภคเป็นอาหาร อาหารเสริมสุขภาพ เครื่องดื่ม สีผสมอาหาร และสีย้อม ตลอดจนใช้ทำเครื่องสำอางอีกด้วย การใช้สมุนไพรเป็นยาบำบัดโรคนั้น อาจใช้ในรูปยาสมุนไพรเดี่ยวๆ หรือใช้ในรูปตำรับยาสมุนไพร
            ปัจจุบันตำรับยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณที่กระทรวงสาธารณสุขอนุญาติให้ใช้รักษาโรคได้
มีทั้งหมด 28 ขนาน เช่น
- ยาจันทน์ลีลา ใช้แก้ไข้ แก้ตัวร้อน
- ยามหานิลแท่งทอง ใช้แก้ไข้ แก้หัด อีสุกอีใส
- ยาหอมเทพพิจิตร แก้ลม บำรุงหัวใจ
- ยาเหลืองปิดสมุทร แก้ท้องเสีย
- ยาประสะมะแว้ง แก้ไอ ขับเสมหะ
- ยาตรีหอม แก้ท้องผูกในเด็กระบายพิษไข้
           สำหรับสมุนไพรที่นิยมใช้เดี่ยวๆ รักษาอาการของโรคที่พบบ่อยๆ ได้แก่
- สมุนไพรแก้ไข้ ฟ้าทะลายโจร บอระเพ็ด
- สมุนไพรแก้ท้องเสีย กล้วยน้ำว้า ทับทิม ฝรั่งดิบ
- สมุนไพรแก้ไอ มะแว้ง ขิง มะนาว
- สมุนไพรแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ขมิ้นชัน แห้วหมู กระชาย
- สมุนไพรช่วยให้นอนหลับ ขี้เหล็ก ดอกบัวหลวง หัวหอมใหญ่
- สมุนไพรแก้เชื้อรา กระเทียม ข่า ชุมเห็ดเทศ
- สมุนไพรแก้เริม เสลดพังพอนตัวเมีย และตัวผู้
คุณภาพของสมุนไพร
สิ่งสำคัญที่สุดในเรื่องสมุนไพร  คือ  ความถูกต้องของพืชสมุนไพรและคุณภาพที่เหมาะสม  สมุนไพรต้องไม่มีการปนปลอม  (Adulterant)  หรือเป็นสมุนไพรทดแทน (Substitution)  สมุนไพรที่ใช้กันแพร่หลายในปัจจุบันเคยปรากฏอยู่ในเภสัชตำรับ  เช่น  USP (The United States Pharmacopeia) และ NF (The National Formulary)  ในรูปโมโนกราฟ (monograph)  ซึ่งถือเป็นมาตรฐานของสมุนไพร 
 โลกสมุนไพรปัจจุบันยังขาดมาตรฐาน  สมุนไพรมากมายในประเทศที่กำลังพัฒนาถูกเก็บรวบรวมโดยชาวบ้าน  และซื้อขายด้วยชื่อสามัญ (common name)  ไม่มีการพิสูจน์ความถูกต้องของพืชและคุณภาพ  สมุนไพรถูกจำหน่ายในรูปทั้งต้น  เป็นชิ้นหรือบดเป็นผง  เมื่อพิจารณาถึงมาตรฐาน (standardization)  ของสมุนไพรหรือสารสกัดสมุนไพร  ก็พบว่ามีความแตกต่างกันอย่างมากในเรื่องความเข้มข้นของสารที่เสดงฤทธิ์ในล็อต (lot หรือ batch) ต่างๆ ของสมุนไพรที่คาดว่าเป็นชนิดเดียวกัน  ที่สำคัญยังมีความเปลี่ยนแปลงเนื่องจากสายพันธุ์
 ตัวอย่างสายพันธุ์เปปเปอมินต์ (peppermint)  ที่ต่างกันจะให้ปริมาณน้ำมันหอมระเหยต่างกัน  แม้ว่าเงื่อนไขของสิ่งแวดล้อมที่มันเจริญเติบโต  และเวลาที่เก็บเกี่ยว  การเตรียมสมุนไพรก็มีผลต่อคุณภาพ  องค์ประกอบเคมีบางชนิดไม่ทนความร้อน  สมุนไพรที่มีองค์ประกอบเคมีเช่นนี้ต้องทำให้แห้งที่อุณหภูมิต่ำ  หากอบสมุนไพรให้แห้งช้าๆ  สารสำคัญที่ถูกทำลายได้ด้วยเอนไซม์จะคงทนอยู่ได้เป็นระยะเวลานานระยะหนึ่ง
 วิธีการประกันคุณภาพสมุนไพร  ก็คือ  การวิเคราะห์ประมาณสารสำคัญในสมุนไพร  ถ้าเราทราบสารสำคัญที่แสดงฤทธิ์ในสมุนไพร  ก็สามารถแยกและวิเคราะห์ได้ด้วยวิธีที่เหมาะสม  แต่ถ้าไม่ทราบสารสำคัญที่แสดงฤทธิ์  หรือเห็นสารผสมที่ซับซ้อน  หรือไม่มีสารที่เป็น marker ให้ใช้วิธีวิเคราะห์ทางชีวภาพ (biological analysis) ดังเช่นที่ให้วิเคราะห์ใบดิจิตาลิส  อย่างน้อยก็เห็นวิธีการขั้นต้น  เมื่อเราทราบความแรงของสมุนไพร
ก็สามารถผสมกับตัวอย่างที่มีความแรงอ่อนหรือมากกว่า  เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีฤทธิ์ตามที่กำหนด
 มาตรฐานของคุณภาพผลิตภัณฑ์สมุนไพรขึ้นกับชื่อเสียงของผู้ผลิต  ผู้บริโภคควรซื้อผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ระบุปริมาณของสารสกัดสมุนไพรมาตรฐาน (standardized plant extract)  ควรมีฉลากที่แสดงชื่อวิทยาศาสตร์ของสมุนไพร  ชื่อและที่อยู่ของผู้ผลิต  หมายเลยล็อต (lot หรือ batch)
ที่ผลิต  วันที่ผลิต  และวันหมดอายุ






เอกสารอ้างอิง



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น